เครื่องดักฝัน

|

ภาพในฝันใกล้ได้เห็นจริง และความลับอาจจะไม่ลับอีกต่อไป เมื่อทีมนักวิจัยแดนปลาดิบ พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถฉายภาพ สิ่งที่ตาของคนเรามองเห็นได้ จากสัญญาณในสมอง อนาคตอาจมีเครื่องบันทึกความฝัน หรือเครื่องฉายภาพจากความรู้สึกนึกคิดของคนเราได้ไม่ยาก ยูกิยาสุ คามิทานิ (Yukiyasu Kamitani) นำทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติด้านเทคโนโลยีทางการสื่อสารขั้นสูง (Advanced Telecommunications Research Institute International) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยผลสำเร็จการสร้างเทคโนโลยี การฉายภาพจากสมองของมนุษย์ได้โดยตรง ซึ่งสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า พวกเขาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารนิวรอน (Neuron) ของสหรัฐอเมริกา ในการศึกษาและทดลอง นักวิจัยให้อาสาสมัครที่เข้าร่วมกัน ทดลองมองดูภาพตัวอักษร 6 ตัว ของคำว่า "neuron" ขณะเดียวกันก็สังเกตการทำงานของสมองส่วนการมองเห็นของพวกเขา ผ่านทางเครื่องแสกนสมอง แล้วสามารถถ่ายทอดสัญญาณจากสมองของพวกเขาปรากฏออกมาเป็นอักษรดังกล่าวได้บนจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเรขาคณิต สีเทา ขาว และดำ แต่ก็ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก ทั้งนี้ เมื่อตาของคนเรามองเห็นวัตถุ เรตินาจะเปลี่ยนภาพที่เห็นให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และส่งไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็นบริเวณคอร์เทกซ์ (cortex) ทำให้เราเห็นว่าสิ่งนั้นคืออะไร ในทำนองเดียวกัน ทีมวิจัยสามารถเชื่อมโยงสัญญาณนั้นเข้ากับอุปกรณ์ได้ แล้วฉายออกมาเป็นภาพที่บุคคลนั้นมองเห็น สำหรับการทดลองนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ปัญหาทางด้านการสื่อสาร และศึกษาถึงความผิดปรกติหรือความซับซ้อนในจิตใจของคนเรา "เวลาที่เราต้องการสื่อสาร เราจำเป็นต้องเคลื่อนไหวบางส่วนของร่างกาย เช่น การพูดออกมาจากปาก หรือใช้นิ้วพิมพ์ลงบนแป้นพิมพ์ แต่ถ้าหากเราสามารถรับข้อมูลที่ออกมาจากสมองได้โดยตรง ก็เป็นไปได้อย่างมากที่เราจะสามารถสื่อสารกันโดยการที่เราเพียงแค่นึกคิดว่าเราต้องการจะพูดอะไรออกมาเท่านั้น โดยที่เราไม่ต้องขยับร่างกายส่วนไหนเลย" คามิทานิ กล่าวกับรอยเตอร์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทงการแพทย์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถพูดได้ หรือมีอาการจิตหลอน นักวิจัยระบุว่านี่เป็นเทคโนโลยีแรกในโลกที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นภาพสิ่งที่คนอื่นมองเห็นได้โดยดูภาพที่มาจากคลื่นสมองของเขาโดยตรง ซึ่งนักวิจัยจะพัฒนาต่อไปอีก และอาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตเราจะมีเทคโนโลยีที่สามารถบันทึกภาพที่เรานึกคิดอยู่ในหัวสมองแล้วนำมาฉายซ้ำอีกครั้งได้ รวมทั้งความทรงจำในใจ หรือแม้แต่บันทึกความฝันในขณะหลับก็ย่อมได้.

ที่มา www.manager.co.th/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

©2009 เทคนิคคอมพิวเตอร์ | Template Blue by:TNB